MSDS

MSDS คือเอกสารอะไร ? มีข้อกำหนดอะไรบ้าง? ที่ผู้ผลิตควรรู้

ในการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การทดลองวิทยาศาสตร์ทั้งระดับอาชีพและระดับทดลองในห้องเรียน ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นต้องมีสิ่งที่บอกถึงความปลอดภัย วิธีใช้งาน รวมไปถึงการกำจัดอย่างถูกต้อง ก็คือ MSDS นั่นเอง แล้ว MSDS คืออะไร ? ต้องระบุเรื่องอะไรบ้าง ? สามารถติดตามได้ที่บทความนี้เลย

MSDS คืออะไร ?

what is MSDS

MSDS ( Material Safety Data Sheet ) หรือ SDS ( Safety Data Sheet ) คือ เอกสารข้อมูลความปลอดภัยทางสารเคมี ซึ่งจะแสดงข้อมูลทั้งหมดของสารเคมี ตั้งแต่ความเป็นอันตรายที่เกิดจากสารเคมีตัวนั้น ๆ วิธีใช้ เก็บรักษาอย่างไร ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อสัมผัสกับสารเคมี และข้อมูลอื่น ๆ อย่างครบถ้วน ข้อมูลในเอกสารจะต้องอัปเดตข้อมูลเสมอและไม่ควรเก่ากว่า 5 ปี และที่สำคัญตัวเอกสาร MSDS จะต้องเป็นของผู้ผลิตตัวยานั้น ๆ ไม่สามารถนำของผู้ผลิตอื่นมาใช้ได้

ข้อกำหนดเกี่ยวกับ MSDS มีอะไรบ้าง

  1. จะต้องเก็บในรูปแบบที่เป็นกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
  2. เก็บไว้ในที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารข้อมูลได้ทันที
  3. MSDS จะต้องมีข้อมูลตามสากลครบทั้ง 16 หัวข้อ เป็นไปตามประกาศของสหประชาชาติ เรื่อง ระบบการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีที่ใช้ระบบเดียวกันทั้งโลก ซึ่งสหประชาชาติได้กำหนดให้ MSDS นั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของข้อมูลสารเคมีนอกเหนือจากบนฉลากของสินค้า

รายละเอียดของ MSDS ทั้ง 16 หัวข้อ มีอะไรบ้าง

MSDS details

ข้อมูลสำคัญที่ต้องมีในเอกสาร MSDS ทั้ง 16 หัวข้อ มีดังนี้

1. ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิต (Product and Company Identification) จะแสดงข้อมูลของสารเคมีคล้ายกับข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป มีดังนี้

  • Product Name / Product Description ชื่อสารเคมี
  • Catalog NO. รหัสสินค้าของทางผู้ผลิต
  • Synonym ชื่ออื่น ๆ ที่เรียกสารเคมีตัวเดียวกัน
  • Recommended Use คำแนะนำในการใช้งานสารเคมี มีการแจ้งว่าใช้งานทั่วไปในห้องปฏิบัติการหรือใช้เฉพาะงาน
  • Uses advised against ข้อมูลยืนยันว่าไม่ใช้สารตั้งต้นในการผลิตที่ผิดกฎหมายการควบคุม
  • Details of the supplier of the safety data sheet รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทผู้ผลิต เช่น ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล เป็นต้น

2. ข้อมูลความเป็นอันตราย (Hazards Identification) จะช่วยบอกว่าเป็นสารเคมีที่อันตรายทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ประกอบไปด้วย

  • Classification of the substance or mixture ประเภทของสารเคมี จะประกอบไปด้วย Physical hazards, Health hazards และ Environment hazards
  • Label Element สัญลักษณ์ที่แสดงอันตรายของระบบ GHS (Globally Harmonised System for Classification and labeling of Chemicals)
  • Signal Word คำที่ใช้เพื่อแสดงถึงความรุนแรงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และคำเตือนถึงผู้ใช้เรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้สารเคมีตัวนี้
  • Hazard statements ข้อมูลที่ระบุความเป็นอันตรายของสารเคมี
  • Precautionary Statement ข้อควรปฏิบัติสำหรับการใช้สารเคมี
  • Other Hazards อันตรายอื่น ๆ
  • NFPA (National FireProtection Association) สัญลักษณ์เตือนภัย เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบว่าวัสดุเป็นอันตรายชนิดใด มีตัวเลขบ่งบอกถึงความอันตราย หากตัวเลขสูงจะบ่งชี้ว่าสารตัวนี้มีความอันตรายสูง

3. ส่วนประกอบรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition, Information on Ingredients) จะแสดงถึงข้อมูลส่วนผสมของสารเคมี ความเข้มข้นของตัวสารเคมี และรหัสของสารเคมี

  • Substance ข้อมูลองค์ประกอบของสารเคมี มีหมายเลข CAS ของส่วนผสมทุกตัวระบุไว้

4. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures) ระบุถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากมีการสัมผัสสารเคมีโดยตรง

  • Description of first aid measures วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากการสัมผัส สูดดม
  • หรือรับประทานสารเคมี
  • Most important symptoms and effect, both acute and delayed อาการและผลข้างเคียงที่สำคัญ ทั้งแบบเฉียบพลันและเกิดขึ้นในภายหลัง
  • Indication of any immediate medical attention and special treatment needed ข้อบ่งชี้ถึงการรักษาทันทีและการรักษาพิเศษที่จำเป็น

5. มาตรการผจญเพลิง (Fire Fighting Measures) ระบุถึงวิธีการดับเพลิง หากมีการไฟไหม้ที่เกิดจากสารเคมีนั้น

  • Extinguish media ข้อมูลเกี่ยวกับการดับไฟว่ามีวัสดุอันไหนที่เหมาะหรือไม่เหมาะกับการใช้ในการดับเพลิง
  • Special hazards arising from the substance or mixture อันตรายจากพิษที่เกิดจากสารเคมี
  • Advice for firefighters คำแนะนำสำหรับพนักงานดับเพลิง

6. มาตรการจัดการเมื่อมีอุบัติเหตุที่ทำให้สารรั่วไหลออกมา (Accidental Release Measures) ระบุถึงวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายจากสารที่รั่วไหล

  • Personal Precautions, Protective Equipment and Emergency Procedures ข้อควรระวังส่วนบุคคล อุปกรณ์ป้องกันอันตราย และขั้นตอนการปฏิบัติงานฉุกเฉิน
  • Environmental precautions ข้อควรระวังทางด้านสิ่งแวดล้อม
  • Methods and materials for containment and cleaning up วิธีการและอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด
  • Reference to Other Section การอ้างอิงถึงหัวข้ออื่น ๆ

7. ข้อปฏิบัติการใช้และการเก็บรักษา (Handling And Storage) ระบุถึงวิธีการใช้สารเคมี ตั้งแต่การจัดเก็บจนถึงความปลอดภัยในการใช้

  • Precautions of Safe Handling ข้อควรระวังในการเคลื่อนย้ายอย่างปลอดภัย
  • Conditions for safe storage, including any incompatibilities การเก็บรักษาอย่างปลอดภัย รวมไปถึงข้อห้ามในการเก็บสารเคมีร่วมกัน
  • Specific Ends Uses สถานที่การใช้งานจำเพาะ

8. การควบคุมการสัมผัสและป้องกันภัยส่วนบุคคล (Exposure Controls, Personal Protection) ระบุถึงปริมาณของสารเคมีที่สามารถสัมผัสได้ และวิธีการป้องกันสารเคมี

  • Control Parameter ค่าขีดจำกัดในการสัมผัสสารเคมีสำหรับผู้ปฏิบัติการ
  • ACGIH – Biological Exposure Indices มาตรฐานการบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับประเมินการสัมผัสสารเคมีในคนงาน
  • Exposure Engineering Controls การควบคุมทางวิศวกรรมที่เหมาะสม
  • Personal protective equipment อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
  • Hygiene Measures มาตรการตามสุขอนามัย เช่น การล้างมือหลังจากสัมผัสสารเคมี
  • Environment exposure controls ข้อกำหนดของการสัมผัสสารเคมีกับสิ่งแวดล้อม

9. คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (Physical and Chemical Properties) ระบุถึงข้อมูลทั่วไปและข้อมูลทางเคมีของสารเคมี

  • Information on basic physical and chemical properties ข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีพื้นฐาน เช่น สถานะของสาร การละลาย น้ำหนักโมเลกุล

10. ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability And Reactivity) ระบุถึงสภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง ที่อาจนำมาสู่ปฏิกิริยาที่อันตราย

  • Reactive การเกิดปฏิกิริยาของสารเคมี
  • Chemical stability ความเสถียรของสารเคมี
  • Possibility of hazardous reactions ความเป็นไปได้ในการเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายของสารเคมี
  • Conditions to avoid สภาวะที่ต้องหลีกเลี่ยง
  • Incompatible materials วัสดุที่ต้องหลีกเลี่ยง วัสดุบางชนิดอาจทำให้สารเคมีเกิดปฏิกิริยาที่อันตรายหรือเสื่อมสภาพ เช่น อากาศ น้ำ เป็นต้น
  • Hazardous decomposition products สารอันตรายที่เกิดจากการสลายตัวของสารเคมีนั้น ๆ

11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information) ระบุถึงความเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลังจากการสัมผัสกับสารเคมี จำแนกตามลักษณะและช่องทางการรับสารเข้าสู่ร่างกาย

  • Information on hazard classes defined in regulation (EC) No 1272/2008 ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทความเป็นอันตรายตามกฎระเบียบ Regulation (EC) No 1272/2008

12. ข้อมูลด้านระบบนิเวศ (Ecological Information) ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผลกระทบที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

  • Ecotoxicity effects ผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม
  • Persistence and degradability ความสามารถในการสลายตัวของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม
  • Bioaccumulation potential ศักยภาพในการสะสมทางชีวภาพ
  • Mobility in soil ศักยภาพของสาร หากปล่อยลงสู่ธรรมชาติ
  • Ozone Depletion Potential ศักยภาพของสารที่สามารถทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศได้

13. มาตรการกำจัดกาก หรือสารที่เหลือใช้ (Disposal Considerations) ระบุถึงการจัดการสารเคมีได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

  • Disposal methods วิธีการที่เหมาะสมในการกำจัดของเสียที่เกิดจากสารเคมี
  • Waste from Residues/Unused Products ของเสียที่ถูกจัดว่าเป็นประเภทที่อันตราย จะถูกกำจัดตาม Wastes Control Act
  • Specify disposal containers and methods วิธีการกำจัดบรรจุภัณฑ์ที่ปนเปื้อนสารเคมี
  • Empty Container Warning คำเตือนเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หมดแล้ว

14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport Information) เป็นข้อมูลที่สำคัญ จะระบุถึงข้อมูลของผู้ขนส่งสารเคมี หรือใช้ติดต่อกับบริษัทขนส่งนั้น ๆ

  • ข้อมูลการขนส่ง เช่น หมายเลข UN
  • Road and Rail Transport ข้อมูลขนส่งทางบก
  • IATA ( International Air Transport Association ) ข้อมูลขนส่งทางอากาศ
  • IMDG/IMO ข้อมูลขนส่งทางทะเล

15. ข้อมูลที่เกี่ยวกับกฎหมาย (Regulatory Information) ระบุถึงรายละเอียดของข้อมูลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี

  • Safety, health and environmental regulations / legislation specific for the substance or mixture กฎระเบียบ/กฎหมายด้านความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสารหรือส่วนผสม
  • ข้อมูลเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการ
  • ปริมาณที่จัดเก็บได้ในสถานที่ที่หนึ่ง

16. ข้อมูลอื่นๆ (Other Information) จะระบุข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเตรียม MSDS ที่ผู้จัดจำหน่ายได้ประเมินแล้วว่าเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ และไม่ได้แสดงอยู่ในข้อ 1-15 เช่น ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ หรือข้อจำกัดในการใช้งาน เป็นต้น

6 หัวข้อของ MSDS ที่ทุกคนต้องรู้ มีอะไรบ้าง

ข้อควรรู้MSDS

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า MSDS จะต้องมีข้อมูลที่สำคัญครบ 16 หัวข้อ แต่จะมี 6 หัวข้อที่ผู้ใช้งานทุกคนควรรู้ ดังนี้

  1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และ บริษัทผู้ผลิต (Product and Company Identification)
  2. ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย (Hazards Identification)
  3. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)
  4. ข้อปฏิบัติการใช้และการเก็บรักษา (Handling And Storage)
  5. ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability And Reactivity)
  6. มาตรการกำจัดกาก หรือสารที่เหลือใช้ (Disposal Considerations)

6 ข้อที่ควรทราบข้างต้นจะช่วยให้ผู้ใช้งานใช้สารเคมีได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงการกำจัดสารหลังใช้งาน

สรุป

MSDS เป็นเอกสารที่สำคัญสำหรับผู้ที่ใช้สารเคมี บอกรายละเอียดที่ควรรู้ของสารเคมีอย่างครอบคลุม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สารเคมีได้รับความปลอดภัยในการใช้มากขึ้น เนื่องจากเอกสารระบุถึงรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิตสารเคมี วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากสัมผัสสารเคมี วิธีการเก็บรักษาที่ถูกต้อง การกำจัดสารเคมีที่ถูกต้องหลังการใช้งาน เป็นต้น